แชร์ประสบการณ์ซ่อมเบรครถยนต์ Honda City ตอนที่ 1

นานๆ จะเข้าอู่ซ่อมรถสักที เพราะตอนนี้รถคันที่ใช้อยู่อายุเริ่มมากแล้ว ถ้าบอกว่าใช้มากี่ปีหลายคนอาจจะบอกว่า มากๆ แล้วล่ะ ไม่ได้มากธรรมดา เพราะบางคนก็เปลี่ยนรถทุกๆ 4-6 ปี แต่รถคันที่ผมกำลังจะเขียนถึงนี้ใช้มา 9 ปีกว่า ย่างปีที่ 10 แล้ว ตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้ให้ถึง 15 ปีก่อนค่อยเปลี่ยนรถใหม่ ตอนนี้ยังไม่ถึง 10 ปี ก็เลยยังรู้สึกว่าใช้มาไม่นานมากสักเท่าไร
รุ่นที่ใช้อยู่ก็คือ Honda City i-DSi ปี 2004 รถคันนี้ผมให้แฟนใช้ประจำ วันๆ หนึ่งใช้งานไม่มากเท่าไร ขับไป-กลับบ้านกับที่ทำงานวันละ 25 กิโลเมตร วันหยุดมีไปเที่ยวต่างจังหวัดเป็นระยะๆ แต่ 2-3 ปีหลังไม่ได้เอาไปแล้ว อายุเยอะ กลัวเสียกลางทาง เลขไมล์ตอนนี้แตะๆ 1.9 แสนกิโลเมตรแล้ว เฉลี่ยวิ่งปีละ 2 หมื่นกิโลเมตร ถือว่าไม่มากไม่น้อย พอดีๆ แบบการใช้งานทั่วๆ ไป
Honda Citiy รุ่นนี้กับคันที่ใช้อยู่ ถือว่าน่าพอใจมาก ตลอดระยะเวลาที่ใช้งานนอกจากมีค่าใช้จ่ายดูแลรถเกี่ยวกับอะไหล่รถยนต์ที่ต้องเปลี่ยนตามระยะเวลาการใช้งาน เช่น อะไหล่จำพวกน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง แบตเตอรี่ ยาง ผ้าเบรก ก็แทบจะไม่ได้ซ่อมแซมอะไรเลย และไม่เคยมีอาการเสียหรืองอแงเลย ใช้งานได้อย่างราบรื่นดีมาก มีเปลี่ยนคลัชท์หน้าคอมแอร์ไป 600 บาทแค่นั้นเอง
ล่าสุดแฟนกลับบ้านมาบอกว่าเบรกแล้วมีเสียงดันครืดๆ ผมก็ลองไปขับดูพบว่ามีเสียงดังเป็นบางจังหวะ ไม่ได้ดังตลอด และหลังจากนั้นก็ไม่ดังอีก ถามไปถามมาได้ความว่าไปขับรถลุยน้ำมา เพราะวันนั้นที่มีเสียงดังวันนั้นมีฝนตกเส้นทางที่ขับผ่านบางช่วงมีแอ่งน้ำ
หลังจากนั้นไม่กี่วันต้องเอารถไปถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อความแน่ใจจึงให้ทางร้านซึ่งเป็นศูนย์บริการรถยนต์ทางเลือกแบรนด์หนึ่ง (ไม่ใช่ศูนย์ Honda) ถอดล้อออกมาตรวจเช็คระบบเบรคให้ ปรากฏว่าช่างทำใบเสนอราคามาให้ดูรวมการซ่อมบำรุงทั้งล้อหน้าและล้อหลังตกอยู่ 9 พันบาท เห็นราคาแล้วสัมผัสได้ทันทีว่าไม่ค่อยเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าสักเท่าไร
ด้วยความที่มีข้อมูลเรื่องการซ่อมระบบต่างๆ ของรถยนต์อยู่บ้างว่าอะไรที่ควรจะซ่อมหรือเปลี่ยนยางไร และระดับราคาน่าจะอยู่ประมาณไหน แม้ว่าจะจำไม่ได้เป๊ะๆ ว่าค่าซ่อมอะไรเท่าไร แต่ก็มีราคากลางที่พอจะอ้างอิงได้ว่า ที่ไหนคิดค่าซ่อมถูกหรือแพง ก็ไม่ใช่ว่าจะมองหาแต่ของถูก เพราะถ้าช่างประเมินถูกไป ก็ต้องมองอีกเหมือนกันว่าเอาอะไหล่อะไรเกรดไหนมาใส่ให้เรา
รายละเอียดการซ่อมแซมที่ช่างประเมินและเสนอราคามาให้คือ ล้อคู่หน้าเปลี่ยนจานดิสก์เบรกหน้า 2 ข้าง พร้อมเหตุผลว่าจานเริ่มมีรอยเป็นเส้นๆ และเนื่องจากความหนาของจานค่อนข้างบางแล้ว ไม่สามารถที่จะเจียจานได้ จึงควรที่จะเปลี่ยนใหม่ พร้อมกับผ้าเบรคอีก 1 ชุด ส่วนล้อด้านหลังพบปัญหาที่มีผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเบรคคือ มีอาการรั่วซึมของน้ำมันเบรค
เมื่อประเมินค่าซ่อมเบรคทั้งล้อหน้าและล้อหลังออกมาให้ผมดู เห็นแล้วก็ตกใจ เพราะว่าค่าใช้จ่าเบ็ดเสร็จแล้วสูงพอสมควร ราคาต่างๆ เอาเรื่องทีเดียว รายการต่างๆ มีอะไรบ้าง เดี๋ยวไล่เรียงให้ดูทีละส่วนในบทความต่อไปนะครับ เผื่อเพื่อนๆอาจได้ใช้อ้างอิงในการซ่อมรถ ว่าแต่เพื่อนๆซ่อมส่วนไหนกันเท่าไหร่บ้าง เขียนแชร์ประสบการณ์มาได้เลยนะครับ