What can we help you with?

5 ข้อ ที่มักเข้าใจผิดในการต่อประกันชั้น 1

สิ่งที่มักเข้าใจผิดเมื่อต่อประกันชั้น 1 ต่อประกันรถยนต์

การทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ มีรายละเอียดมากมายที่ผู้เอาประกันจะต้องศึกษาก่อนซื้อประกันรถยนต์ เช่น ความคุ้มครองของประกัน เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ เอกสารประกอบการเคลม ฯลฯ เนื่องจากรายละเอียดต่าง ๆ มีมากมาย ทำให้บางท่านอาจเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้จะทำให้ผู้เอาประกันเสียผลประโยชน์ บทความนี้ DirectAsia จะมาบอกถึง 5 ข้อที่หลายท่านมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการต่อประกันชั้น 1

1.) ประกันชั้น 1 เคลมเท่าไหร่ ก็ไม่มีผลต่อเบี้ยประกัน

ทราบกันหรือไม่ว่า ในการเคลมประกันแต่ละครั้ง บริษัทจะทำการบันทึกไว้ในประวัติเคลมและประวัติการขับขี่ 

โดยประวัติเคลมดังกล่าว หากมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้เอาประกันหรือผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิดอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็ตาม จะส่งผลให้เบี้ยประกันในปีถัดไปแพงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทประกันร่วมด้วย เหตุผลที่บริษัทประกันต้องขึ้นค่าเบี้ย ก็เพราะเป็นการป้องกันผู้เอาประกันขับขี่รถด้วยความประมาท และอยากให้ผู้เอาประกันขับขี่ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

นอกจากนี้ ประวัติเคลมที่มากครั้ง อาจเสี่ยงต่อการถูกยกเลิกกรมธรรม์ หรือติดแบล็กลิสต์ (Blacklist) ซึ่งบริษัทประกันมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกความคุ้มครองของผู้เอาประกันได้

แต่สำหรับใครที่ขับขี่ดี ไม่มีประวัติเคลมตลอดปีหรือเมื่อเคลมจะต้องเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น

บริษัทประกันจะมีส่วนลดประวัติดีมอบให้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ขับขี่จะได้เบี้ยประกันถูกลง เรียกได้ว่า “ยิ่งขับดี ยิ่งได้เบี้ยราคาถูกลง” นั่นเอง

2.) ประกันชั้น 1 ทำได้เฉพาะรถป้ายแดงเท่านั้น

ความเข้าใจที่ว่ารถป้ายแดงหรือรถใหม่เท่านั้นที่จะทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ได้นั้นไม่จริงเสมอไป รถที่มีการใช้งานมาหลายปีก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่อายุรถต้องไม่เกินที่บริษัทประกันกำหนด ซึ่ง DirectAsia กำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ประกันรถยนต์ชั้น 1 ไม่ได้เหมาะกับผู้ขับขี่ทุกคน การนำรถเก่ามาต่อประกันชั้น 1 นั้นอาจต้องพิจารณาพฤติกรรมการขับขี่ร่วมด้วย

3.) ประกันชั้น 1 คุ้มครองรถทุกกรณี

ถึงแม้ประกันรถยนต์ชั้น 1 จะคุ้มครองทั้งคู่กรณีและผู้เอาประกัน คุ้มครองรถยนต์กรณีชนสิ่งของ สูญหาย หรือไฟไหม้ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดคุณอาจไม่ได้รับความคุ้มครองเลยก็ได้ หากมีพฤติกรรม ดังนี้

  • ดื่มแล้วขับ
  • ขับรถออกนอกพื้นที่คุ้มครอง
  • ใช้รถอย่างผิดกฎหมาย (นำรถไปแข่งขันความเร็ว ปล้น หรือขนส่งสารเสพติด)
  • ให้ผู้อื่นขับรถ กรณีที่ผู้ยืมไม่มีใบขับขี่
  • นำรถไปใช้นอกเหนือจากการที่จดกรมธรรม์ (เช่น จดไว้ว่าเป็นรถยนต์สำหรับส่วนบุคคลแต่นำไปใช้งานเชิงพาณิชย์)

ดังนั้น ถึงแม้จะทำประกันชั้น 1 เอาไว้ แต่ผู้ขับขี่ก็ควรปฏิบัติตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่บริษัทประกันกำหนดอย่างเคร่งครัด 

4.) ประกันชั้น 1 คุ้มครองยางรถยนต์และของเหลวในเครื่อง

ยางรถยนต์และของเหลวในเครื่องจะเสื่อมสภาพตามกาลเวลาอยู่แล้ว หากความเสียหายไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ยางสึกหรอ หรือยางระเบิด บริษัทประกันอาจจะไม่รับประกันในส่วนนี้ แต่หากกรณีที่ยางเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ผู้เอาประกันหักหลบรถจักรยานยนต์ที่กำลังพุ่งชนรถของตน แล้วรถเสียหลักชนฟุตบาทจนยางรถเสียหาย ทางบริษัทประกันจะชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวให้ ตามข้อกำหนดของ คภป.

5) ประกันชั้น 1 ไม่ต้องจ่ายค่า Deductible และ Excess เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อเลือกซื้อประกันชั้น 1 ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าหายส่วนแรก 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ค่า Excess และ Deductible โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ค่า Excess (เอ็กเซส) คือค่าเสียหายส่วนแรกแบบบังคับที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยจ่ายเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ในกรณีที่
  • ไม่สามารถระบุคู่กรณีได้
  • ความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ เช่น หินกระเด็นใส่ เฉี่ยวกิ่งไม้/สายไฟ หรือขับรถตกหลุม เป็นต้น
  • ผู้เอาประกันไม่สามารถระบุรายละเอียดความเสียหายที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันตามหาผู้กระทำผิดได้

ผู้เอาประกันไม่จำเป็นต้องจ่ายค่า Excess เสมอไป หากระบุได้ชัดเจนว่าเป็นการชนที่ทำให้เกิดความเสียหายถึงกับบุบ แตก ร้าว หรือระบุสาเหตุความเสียหายที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบคนที่ต้องรับผิดชอบได้

  1.  ค่า Deductible (ดีดักทิเบิ้ล) คือค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยสมัครใจจ่ายเองโดยตกลงกับบริษัทประกันภัย เริ่มต้นที่ 1,000 - 7,000 บาท/เหตุการณ์ ซึ่งอาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ มีข้อดีคือผู้เอาประกันจะได้รับเบี้ยประกันที่ถูกลงตามค่าเสียหายส่วนแรกที่ยินยอมจ่าย แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น แล้วเป็นฝ่ายผิดหรือชนแบบไม่มีคู่กรณี จะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกตามที่ตกลงกับบริษัทประกันไว้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้เอาประกันต้องจ่ายค่าเบี้ยปีละ 25,000 บาท และตกลงจ่าย Deductible  3,000 บาท ผู้เอาประกันก็จะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย 3,000 บาท (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละบริษัท) ซึ่งเป็นการลดค่าเบี้ยประกันไปตามสัดส่วนของทุนประกันภัย ดังนั้นจะเหลือค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายจริงเพียง 22,000 บาทเท่านั้น  แต่หากเกิดอุบัติเหตุที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด ผู้เอาประกันต้องจ่าย “ค่าเสียหายส่วนแรก” เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท/เหตุการณ์ ตามที่ได้ตกลงไว้ในกรมธรรม์

จะเห็นได้ว่าผู้ซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่า Excess และ Deductible ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ แต่ต้องจ่ายเมื่อผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด ไม่สามารถระบุคู่กรณีได้ หรือรถมีความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ แต่หากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูก สามารถระบุคู่กรณีได้ชัดเจน และแจ้งประกันถึงสาเหตุของร่องรอยการบุบ แตก ร้าว ได้อย่างชัดเจน ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการพิจารณาของประกันด้วย

หวังว่าหลาย ๆ คนที่เข้าใจประกันรถยนต์ชั้น 1 ผิดอยู่จะเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้ว และถ้าหากคุณสนใจทำประกันชั้น 1 DirectAsia สามารถช่วยให้คำแนะนำและส่งมอบประกันรถที่ตอบโจทย์คุณได้อย่างแน่นอน

สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยรถยนต์  โทร 02-767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมเช็กราคาประกันรถยนต์ 1, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิก www.directasia.co.th